#75 ความยากจน

ความยากจน

เมื่อความยากจนได้ย่างกรายเข้ามายังชีวิตของตัวเรา เราจะรับมือกับมันอย่างไร ปัญหามันอาจจะไม่ได้อยู่ที่เราเคยร่ำรวยมาก่อน แต่มันอยู่ที่มุมมอง ทัศนคติ และความรู้ทางการเงินว่าเราจะรับมือกับระบบทุนนิยมนี้ให้ถูกต้องอย่างไร ความท้าทายของโจทย์ที่เราทุกคนบนโลกต้องเผชิญ มันจึงเป็นสิ่งที่เหมือนเป็นภูเขาลูกใหญ่ มหาสมุทรที่ไม่มีวันบรรจบกันของสรรพสิ่ง แล้วหน้าที่ในตอนนี้ก็คือจะทำอย่างไรก็ได้ให้หลุดพ้นจากความยากจนนี้ไปได้อย่างถาวร.

จนเงินไม่หนักเท่าจนใจ

หากว่าเรามีโจทย์ที่ยาก นั่นคือเราจะทำอย่างไรให้เงินจำนวนหนึ่งนี้ งอกเงยและไปอยู่ในจุดที่สามารถสร้างผลผลิตให้กับเราได้โดยที่เราจะต้องอยู่รอดไปได้จนแก่เฒ่า มิใช่ว่าเราจะสักแต่ว่าใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย แต่เราจะต้องเสริมสร้างและพัฒนาต่อยอดเงินนี้ให้งอกงามไปได้ด้วย ซึ่งแน่นอนว่ามีคนเพียงหยิบมือเดียวที่สามารถจะบริหารเงินอย่างที่ใจหวังได้ แต่มีคนจำนวนนับไม่ถ้วนที่ยังคงมีปัญหาในเรื่องการเงิน แถมยังไม่สามารถอดออมเงินเอาไว้ได้ ก็เลยต้องยอมรับสภาพตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่เรามี ทรัพยากรที่เราพึงได้รับนั้นมันหมดสิ้นลงไปแล้ว จบสิ้นและไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีก หลังจากนี้มันก็คือหน้าที่ของโชคชะตาว่าจะเหวี่ยงเราไปทางไหน.

ประสบการณ์จะมาสอนเราว่าจนเงินไม่เท่าจนใจ คนที่จนใจเหมือนว่าจะเป็นคนที่ไม่คิดอะไรไกลมาก แถมใช้ชีวิตไปวัน ๆ เหมือนว่าเขาก็แค่คิดว่า มีก็ใช้ไม่มีก็ไม่ต้องใช้ หรืออาจจะพยายามได้เท่านี้ ถ้าพยายามมากกว่านี้มันเหนื่อยและมันไม่ใช่ตัวของเขาเอง ซึ่งไม่ว่าอะไรก็ตามนั่นคือคนที่จนใจ จนหนทาง และไม่สามารถมีมุมมองที่กว้างไกลได้เลยว่า ชีวิตในวันนี้มันก็เป็นเพียงแค่ช่วงหนึ่งของชีวิต มันไม่มีอะไรคงทนถาวร ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือว่าจิตใจก็ตาม อย่างนั้นเราก็ควรที่จะรักษาและดูแลทรัพยากรที่เรามีอยู่มิใช่หรือ หากว่าการที่เราไม่มีความสามารถดูแลสิ่งของได้ แล้วตัวเราเองจะไปเหลืออะไร บั้นปลายก็คงต้องอยู่อย่างยากจนข้นแค้นที่หลีกเลี่ยงไปไม่ได้.

โจทย์ของแต่ละคนต่างกัน

ระบบทุนนิยมหรือระบบนิยมทุน ก็คือสิ่งที่เราได้อยู่อาศัยกันตั้งแต่เราลืมตามาบนโลกใบนี้ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้คนที่ได้เกิดมาบนโลกใบนี้จำเป็นจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ควรรับ เช่น การดูแลตัวเอง ทำงานหาเลี้ยงชีพ หรือเรียกสั้น ๆ ว่าเราเป็นหนี้กันตั้งแต่เกิดมา เพราะเราต้องกิน ต้องใช้ ต้องบริโภคมากขึ้นตามวันเวลาที่ล่วงเลยผ่านไป กระนั้น มันจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายว่า เราจะทำงานอย่างไรให้หนีเงินเฟ้อทัน แล้วเราเป็นหนี้เท่าไหร่ พ่อแม่ของเรามีภาระหนี้สินให้เราไหม เพราะการส่งต่อความมั่งคั่ง และหนี้สินเป็นพันธะผูกพันเกี่ยวเนื่องกันอยู่แล้ว เสมือนว่าโลกก็อาจจะไม่ยุติธรรมว่า เด็กคนนึงอาจจะมีเงินมากองอยู่ตรงหน้า แต่กลับกันอีกคนอาจจะมีหนี้มากองตรงหน้าแทนก็ได้เช่นกัน.

เมื่อโจทย์มันแตกต่างกัน นั่นก็แปลว่าความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่าความยากลำบากของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน แน่นอนบางคนก็เผลอไปอิจฉาคนที่สุขสบายกว่า แล้วคนที่สุขสบายอยู่แล้วแทนที่จะช่วยเหลือเยียวยาคนที่ด้อยโอกาสกว่า ก็กลับกลายไปเป็นการอวดร่ำอวดรวย ซ้ำเติมชีวิตที่ไม่เท่าเทียมนี้กันเข้าไปใหญ่ เผลอ ๆ ถ้ามองกันให้ดี ๆ คนที่น่าเห็นใจอาจจะไม่ใช่คนจน แต่เป็นคนที่รวยขึ้นมาแต่ไม่รู้นิยามคำว่าเงินทองเป็นอย่างไร แล้ววันหนึ่งคนที่ร่ำรวยโดยขาดนิยามที่ชัดเจน ก็ต้องกลับคืนสู่สามัญคือกลับไปยากจนเหมือนเดิมอย่างแน่นอน ในเมื่อโลกใบนี้ให้ความแตกต่าง ไม่เท่าเทียม แล้วอะไรล่ะคือสิ่งที่เท่าเทียม.

คนที่ได้เปรียบคือคนที่บริหารจัดการเงินได้

จุดเริ่มต้นของเราอาจจะแตกต่างกันก็จริง แต่ระหว่างทางที่เราเดิมย่อมเท่าเทียมกัน ก็คือไม่รู้ก่อน แล้วค่อย ๆ เรียนรู้ พอเรียนรู้แล้ว ก็รู้แจ้งในความรู้นั้นต่อไป หลังจากที่เรารู้แจ้งทั้งหมดของการบริหารจัดการเงินได้แล้ว เราก็จะรู้ว่าความยากจนเป็นแค่เงื่อนไขหนึ่ง ไม่ใช่พระเจ้ากลั่นแกล้งเรา เพียงเพราะเราไม่เข้าใจระบบ แต่ความจริงคือมันไม่มีสอนที่ไหนเลย โดยเฉพาะโรงเรียนที่เราไม่เคยคิดอยากจะเรียน มันจึงเป็นความด้อยโอกาสของความรู้ทางการเงิน และเราก็จึงต้องศึกษาต่อไปว่า ทำไมเราทุกคนจึงไม่เหมือนกัน ทำไมคนรวยอยู่แล้วก็ยิ่งรวยขึ้น ส่วนคนจนก็ยิ่งจนลงต่อไปอีก นับแต่นี้ไปเรียนรู้ว่าโจทย์ที่เราทุกคนเท่ากันก็คือ ความสามารถที่จะเรียนรู้จักการเงินให้ดี.

ปัญหาที่แตกต่างกัน มันก็จึงมีข้อสรุปที่ผิดแผกจากกันไปด้วย แม้ว่าการบริหารจัดการเงินได้ มันก็เป็นเพียงแค่แง่มุมหนึ่งของการเงินอยู่ดี นี่เพียงแค่เป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่ของชีวิตเก่า ลองปรับเปลี่ยนทัศนคติเดิม ๆ ดูแล้วชีวิตใหม่ก็จะปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ถ้าหากวันนี้เรามีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง เราจะเอาเงินนี้ไปทำอะไรบ้าง ซื้อของที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นต่อชีวิต แล้วก็ให้ตระหนักไว้เสมอว่า เวลาเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้การเงินของเราดีขึ้นหรือแย่ลงได้ มันอยู่ที่เราใช้เงินไปกับอะไร ไม่ได้อยู่ที่เวลาเลย รวมความว่าทุกอย่างอยู่ที่เราตัดสินใจ ไม่ได้อยู่ที่ระบบอะไรทั้งนั้น ถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้มากมาย แต่เราไม่เข้าใจวิถีทางของตัวเอง เราก็ย่อมไม่เข้าใจอยู่ดีว่าคนเราจะรวยหรือจนได้เพราะสิ่งใด.

เลิกเปรียบเทียบกับผู้อื่น

โฟกัสที่ปัญหาของเราให้มากที่สุด ไม่ต้องสนใจว่าคนอื่นจะรวยจะจนแค่ไหน แล้วเราอยู่ตรงจุดใดแล้ว เกมนี้คือเกมที่แข่งกับตัวเราเอง ให้เริ่มตั้งคำถามไปเลยว่าฉันต้องการเงินไปเพื่ออะไร แล้วจำนวนเท่าไหร่ ระยะเวลาที่เราสามารถทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จลุล่วงได้ เพื่อให้กรอบการกระทำของตัวเองให้ชัดที่สุด ว่าการเงินเป็นของนอกกาย ความร่ำรวยไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่งในชีวิต เพราะความสุขของคนอยู่ที่ความพอดี และพอใจของบุคคลนั้น การเปรียบเทียบจึงเป็นการทำร้ายจิตใจของผู้ที่ชอบเปรียบเทียบเองเสียมากกว่า การพบปะผู้คนก็ขอให้คุยเรื่องที่สร้างสรรค์ ไม่ต้องแข่งกันร่ำรวย หรือว่าด้อยค่าตัวเองว่า วันนี้เรายังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย.

ความร่ำรวยหรือยากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สินทรัพย์บางอย่างมันคือกระดาษแผ่นหนึ่งที่เขียนว่าเราครอบครองอะไรอยู่บ้าง บางครั้งรูปแบบของรายได้ก็เข้ามาจากสินทรัพย์ที่เราถือครอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องประดับประดาไปด้วยของแบรนด์เนม หรือว่าของที่มีมูลค่ามหาศาลใด ๆ ทั้งสิ้น คนที่จนที่สุดก็คือคนที่ไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปวางไว้ที่ไหน ส่วนคนที่จะจนไปตลอดชีวิตก็คือคนที่คิดว่าเงินคือทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนคนที่จะหลุดพ้นจากความยากจนอย่างถาวรได้ ก็คือคนที่รู้จักตัวเองว่าเราต้องการเท่านี้ แล้วก็หาเพียงเท่านั้นพอ หลังจากนั้นก็ไปโฟกัสเรื่องอื่น ๆ ต่อไป ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบหนทางเดินของเรากับใคร เพราะทุกคนมีความมั่งคั่งและยากจนที่แปรผันตรงกับความปรารถนาของตน.