#13 ความบาดเจ็บ

ความบาดเจ็บ

ถึงแม้ว่าเราจะมีหมอรักษาโรคกาย แต่หมอที่รักษาโรคใจยังไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยบางคนได้ เพราะสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการรักษาแผลใจ หรือความบาดเจ็บทางใจ คือการมองไปที่บาดแผลนั้นว่ารักษาได้หรือไม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับหมอ คือการรู้ว่าหนทางไหนจะเป็นการรักษาได้ดีที่สุดกันแน่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ถ้าบุคคลนั้นไม่รู้ว่าเขากำลังบาดเจ็บ การรักษาใด ๆ ก็หาใช้ได้ไม่.

เรียนรู้ที่จะพิจารณา

ปัญหาของคนในสังคมไม่ใช่เพราะ ‘สังคม’ แต่กลับกลายเป็น ‘คน’ ในสังคมนั้น ๆ เสียมากกว่า การโทษสังคมไม่สามารถช่วยอะไรให้ดีขึ้นได้ ถ้าทุกคนไม่ร่วมแรงร่วมใจกัน ทุกอย่างก็ถือว่าโมฆะ การจะเปลี่ยนแปลงก็ต้องเริ่มจากตนเองเสมอไม่ใช่จากสิ่งอื่น บางทีการเรียนรู้ที่จะพิจารณาว่าปัจจัยอะไรบ้าง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง การมองดูปัญหาอย่างถี่ถ้วนก็จะเป็นการช่วยให้ปัญหานั้นเบาบางลงได้ เพราะการหนีปัญหาไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นนั่นเอง.

เริ่มจากการที่สังเกตความคิดในแต่ละวันว่า “คิดอย่างไรต่อสิ่งอื่นบ้าง” การตั้งคำถามนี้จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญ เพื่อเป็นการสอบทานความคิดจิตใจว่าเป็นคนอย่างไร มีมุมมองต่อปัญหาในทิศทางไหน แล้วหลังจากนั้นการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้นตามมา กระบวนการนี้สำคัญสำหรับชีวิตหลังจากนี้มาก ไม่ใช่เพราะวิธีการแต่เป็นการเข้าใจปัญหาว่า ไม่มีปัญหาไหนแก้ไขได้ด้วยการปล่อยมันทิ้งไว้ แล้วตัวเรานั่นแหละที่ยังคงสร้างปัญหานั้นขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวว่า คนที่เป็นปัญหาไม่ใช่ใครเลยนอกจากตัวของเราเอง หมายความว่า ใครจะทำไม่ดีกับคุณไม่สำคัญเท่ากับคุณทำไม่ดีกับคนอื่นหรือเปล่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณล้วนแต่เป็นผลพวงมาจาก ความคิด การกระทำ และคำพูดทั้งนั้น ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน.

เดี๋ยวมันก็หายเอง

คำว่า ‘หายเอง’ จะต้องอยู่ในบริบทที่เรากำลัง ‘รักษา’ ด้วย ไม่ใช่ว่ามีแผลอยู่แล้ว แต่กำลังทำให้แผลนั้นช้ำมากขึ้น หรือทำให้แผลฉกรรจ์หนักกว่าเดิมอีก แผลภายนอกถ้าเราไม่ไปกระทบโดน เซลล์ต่าง ๆ ก็จะร่วมกันรักษาโดยมีเม็ดเลือดขาวเป็นตัวช่วยสำคัญ.

ต่างจากแผลใจที่ไม่ได้มีเซลล์มาช่วยให้แผลใจหาย ถึงแม้จะดูเหมือนว่าแผลใจมันไม่ปรากฏให้เห็น แต่ดูเหมือนว่าแผลใจก็จะมีอิทธิพลต่อมนุษย์ทุกคนมากมายมหาศาล บางคนถึงขั้นปล่อยไว้ให้ลุกลามจนไม่สามารถเยียวยาอะไรได้อีก แต่กระนั้นก็เถอะการปล่อยไปเองไม่สามารถรักษาได้ ก็เพราะว่าความคิดบางอย่างทำให้แผลใจนั้น ไม่สามารถหายได้ มันทำให้แผลนั้นหนักยิ่งกว่าเดิมยังไงล่ะ ในขณะที่เรากำลังปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป คิดว่า “เออ เดี๋ยวมันก็หายเอง” หรือว่า “เดี๋ยวไปหาอะไรแก้เซ็งคงดีขึ้นเอง” คำพูดประมาณนี้ไม่สามารถช่วยได้ เพราะว่ามันคือการผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ใช่การเข้าใจปัญหานั้นจริง ๆ ว่า ทำไมถึงเกิดขึ้น หรือว่า เพราะอะไรจึงเป็นปัญหาขึ้นมา หาสาเหตุที่แท้จริงให้เจอก่อนที่แผลใจนั้นจะลุกลามจนรักษาไม่ได้ รวมถึงการเที่ยวก็ไม่ช่วยให้ปัญหานั้นดีขึ้น แต่กลับหนีปัญหาเก่าเพื่อไปเจอปัญหาใหม่ก็เท่านั้นเอง อย่าดูถูกแผลใจเชียวมันคร่าชีวิตคนมานับไม่ถ้วนแล้ว.

จิตที่เศร้าหมอง

จิตคือใจ ใจคือจิต สิ่งนี้เหมือนกันจิตใจก็เช่นกัน ไม่ว่าจะใช้คำไหน มโน หทัย มนัส จิตใจ จิต และใจ ล้วนบ่งบอกถึงสภาวะที่เรียกว่า ‘ศูนย์กลางความรู้สึก’ คำพูดยอดฮิตคือ “ทำไมชอบมโน” อาจจะหมายถึงว่า ทำไมชอบฟุ้งซ่าน ทำไมชอบคิดเรื่องอื่น จริง ๆ แล้วสภาวะจิตใจทุกคนก็เป็นแบบนี้ เรามโนเพื่อที่จะเข้าใจว่า ความสุขในชีวิตมันอยู่ที่ไหน เราต้องการจะหาความสุขยังไงล่ะ แล้วยิ่งเราหาความสุขมาก ความสุขมันจะยิ่งออกห่าง เพราะความสุขมันอยู่ที่ ‘ใจ’ แล้วมันก็วนเวียนอยู่ที่ตรงนี้นั่นแล เหมือนอธิบายวนไปวนมา มโนเพื่อหาความสุข แต่ความสุขมันอยู่ที่ใจ งั้นแสดงว่า จิตใจมันมองหาความสุข แต่ความสุขมันกลับอยู่ที่ตัวของมันเองคือจิตใจของมัน แล้วนี่ก็เป็นที่มาของคำตอบว่าทำไมคนเราถึงชอบมโน.

สุดท้ายแล้วชีวิตก็คือวัฏจักรหนึ่งที่มีการ แสวงหาความสุข พบเจอความสุข ความสุขหมดไป และก็แสวงหาความสุขต่อไป จิตที่เศร้าหมองจะเป็นลักษณะนี้เสมอ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องหาความสุขแต่ก็ทำให้ตัวเองทุกข์ระทม แต่เป็นการหยุดไขว่คว้า ไล่ล่าโดยใช่เหตุ ไปหาที่ไหนก็ไม่รู้ ที่ ๆ ทุกคนลงความเห็นว่าดี เช่น เงินทอง ของใช้ สถานที่ท่องเที่ยว หรืออาหารสุดหรู สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ใช่ความสุข แต่มันไม่อยู่กับเราตลอดไปเราจึงต้องหามาตลอด.

รักษาใจด้วยปัญญา

มันไม่มีหนทางอื่นนอกจากนี้แล้วจริง ๆ จากประสบการณ์ของตัวเอง และจากที่ศึกษามา ก็ต้องบอกได้คำเดียวว่า ‘ยากมาก’ ที่จะรักษาแผลใจ ถ้าไม่ด้วยปัญญาก็ไม่เห็นหรอกว่ามันจำเป็นต้องเร่งรักษาให้ทันท่วงที ปัญญานั้นจะทำให้เราได้พิจารณาบาดแผลว่า “เพราะเหตุใดจึงเจ็บปวดทรมาน” แล้วถ้า “ไม่มีบาดแผลจะต้องทำอย่างไรบ้าง” บางทีบาดแผลก็มีประโยชน์ที่ทำให้เป็นร่องรอยการจารึก หรือจดหมายเหตุว่า เราเคยผิดพลาดเรื่องนี้มาประวัติศาสตร์ต้องไม่ซ้ำรอยเดิม เราจะต้องแก้ไขให้ดีขึ้น.

โดยใช้พละกำลังอย่างสุดความสามารถให้ได้ เริ่มที่จะแยกแยะให้ออกว่า บาดแผลมีหน้าที่ที่ดี และหน้าที่ที่ไม่ดีอย่างไร เพื่อที่จะหาตรงกลางได้ว่า เราควรนำสิ่งใดมาใช้ต่อยอด และนำสิ่งใดทิ้งไปให้เร็ว สติ จะมีหน้าที่รู้ว่ามีปัญหาตรงไหน สมาธิ จะมีหน้าที่รู้ว่าปัญหาใหญ่แค่ไหน แล้วปัญญา จะมีหน้าที่หาหนทางว่ามีทางไหนที่แก้ได้บ้าง เพราะถ้าไม่มีปัญญาก็จะแก้ไขแบบผิด ๆ ทำให้ไม่สามารถรักษาตรงจุดที่เกิดเหตุได้เลย มิหนำซ้ำยังทำให้ปัญหานั้น ยังจะทำร้ายเพิ่มดีกรีให้หนักมากขึ้น คล้ายกับว่าดินพอกหางหมู ถ้าไม่จัดการเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ ภายหลังก็จะยิ่งพอกพูนขึ้นแล้วก็ยากที่จะแก้ไขได้อีกด้วย ลองฝึกปัญญาด้วยการใช้โยนิโสมนสิการ คือการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยแยบคาย.