ความว่างที่ไม่เปี่ยมไปด้วยการตระหนักรู้ย่อมว่างด้วยความขาด ๆ เกิน ๆ แต่ถ้าความว่างนั้นเปี่ยมไปด้วยความเข้าใจ และตกผลึก ย่อมรู้แจ้งว่า หากปราศจากความว่างแล้วไซร้ ชีวิตก็หามีความสุขได้ไม่ จากการที่เราทุกคนตามหาสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตหลอมรวมกลายเป็นคนที่มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่แล้ววันหนึ่งกลับพบว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น หาได้ช่วยให้จิตใจนั้นเติมเต็มได้ นั่นคือหนทางของผู้รู้แจ้งสัจธรรมอย่างแท้จริง.
ว่างกับไม่ว่าง
การเรียนรู้ในชีวิตย่อมมีประโยชน์แก่ผู้ละคลาย แต่กลับเป็นโทษกับผู้ที่ติดข้องต้องการ คนหลายคนหลงวนเวียนคิดว่า “ไม่ว่างย่อมดี” กลับอีกฟากฝั่งหนึ่งก็มีคนคิดกลับกันว่า “ว่างสิดี” ทั้งสองคำถามนี้ย่อมมีคำตอบที่ถูกเพียงหนึ่ง มิอาจเป็นสองได้ ก็เพราะความจริงนั้นมีหนึ่งเดียว สิ่งที่คุณต้องตามหาคือคำตอบว่า “ว่างกับไม่ว่างอะไรดีกว่ากัน” บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าแล้วเราจะถามไปทำไม เสียเวลาหรือเปล่า ก็ขอตอบว่าต้องลองดู บางคนอาจจะเสียเวลาก็ได้ แต่บางคนอาจจะคุ้มค่ามหาศาลที่เขาเหล่านั้นได้เดินมาถูกทาง เพราะการตั้งคำถามนี้เป็นประโยชน์มาก.
คนประเภทแรกที่คิดว่าไม่ว่างย่อมดีนั้น ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนย่อมต้องหาอะไรทำตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมยามเช้า ยามบ่าย และยามเย็น บางครั้งมียามก่อนนอนด้วย วันหนึ่งมี 24 ชม. จะยาวนานสำหรับเขาเสมอ เพราะต้องการอะไรให้วุ่นวายไปเสียหมดทุกอย่าง นั่งเฉย ๆ ก็เมื่อย ยืนนาน ๆ ก็เหนื่อย เดินบ่อย ๆ ก็หงุดหงิด ทุกอย่างดูจะขุ่นเคืองใจไปซะหมด.
แต่อีกคนหนึ่งที่คิดว่าว่างสิดี ในชีวิตประจำวันของเขานั้นจะเต็มเต็มด้วยการให้ และใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาดเพราะเริ่มรู้เริ่มเห็นแล้วว่า ชีวิตนี้ถ้ามีมากก็จะทุกข์มากตาม มีน้อยก็จะทุกข์น้อยตามไป วัน ๆ หนึ่งเขาอาจจะไม่ได้ต้องทำกิจอะไรมากมายเพียงแต่ ทุกครั้งที่กระทำอะไรสักอย่างย่อมมีความสลักสำคัญต่อตัวของเขาเอง และผู้อื่นเสมอ.
หนีความว่าง
บุคคลที่หนีความว่างก็ย่อมเป็นทุกข์ฉันใด ความว่างก็ย่อมทิ่มแทงเขาฉันนั้น แม้กระทั่งความไม่มีอะไร ก็ย่อมเป็นทุกข์สำหรับผู้ที่ไม่รู้หนทางในชีวิต หลายคนมากย่อมเป็นทุกข์ เพราะความว่างเปล่า การที่เราไม่มีอะไรเลยสักอย่างในชีวิต บางคนต้องตามหาชื่อเสียง เกียรติยศมาเติมเต็มเขามากมายก่ายกอง แต่กลับพบว่ายิ่งตามก็ยิ่งพร่อง ยิ่งไล่ก็เหมือนยิ่งไกลห่าง เพราะอะไรกันทำไมชีวิตถึงเป็นแบบนี้ คำตอบมีเพียงแค่ ‘ความไม่รู้’ ตัวเดียว.
มีผู้คนมากมายนักที่ตามหาความสุขในชีวิต แต่กลับไม่เข้าใจว่าสุขกับทุกข์อยู่ที่ไหน ไม่เข้าใจว่าการหนีไม่ช่วยอะไร รวมถึงการฆ่าตัวตายมันไม่ใช่หนทางที่จะหนีทุกข์ได้จริง ๆ คนที่แบกของหนักย่อมบอกว่าเป็นทุกข์ ก็ต่อเมื่อคนที่แบกนั้นเริ่มมี ‘สติ’ จะแตกต่างกับคนที่ชอบหาเรื่องแบกใส่ตัวเต็มไปหมดแล้วบอกว่า “ดูนี่สิฉันมีของมากมายเลยนะ” “ดูฉันสิฉันก็มีเหมือนพวกเธอเลยนะ” สองคนนี้แตกต่างกันตรงที่มีสติกับไม่มีสติแค่นั้นเอง คนไม่มีสติคือคนที่คิดว่า ว่างแล้วทุกข์ คนมีสติย่อมคิดว่า ว่างแล้วสุข ทั้ง ๆ ที่ความว่างก็มีเหมือนกันแท้ ๆ แต่กลับมองต่างกันราวฟ้ากับดิน.
การหนีจึงไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้ ก็เพราะว่าคุณไม่สามารถหนีโดยใช้ขา หรือโดยการฆ่ากายนี้ ถ้าคุณอยากหนีทุกข์ ทางเดียวเท่านั้นคือต้องรู้ทุกข์ คนที่จะหาความสุขเจอได้ เขาต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับทุกข์นี่แหละ ไม่ได้ไปตามหาสุขอย่างที่ทุกคนคิด.
จิตนั้นว่างของมันอยู่แล้ว
จิตเดิมแท้ของทุกคนย่อมสว่างผุดผ่อง แต่มีกิเลสเข้ามาทำให้ใจมัวหมอง ถ้าคิดว่ากิเลสอยู่ไกลตัวก็ต้องฝึกสติให้มากขึ้น เพราะจะได้เห็นว่าทุกวันตั้งแต่ตื่นนอน ยันหลับไปก็ประกอบด้วยกิเลสทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่ปราศจากกิเลสไปหรอก ถ้าคิดว่ากิเลสใกล้ตัวเรามากขึ้น แสดงว่าเราเริ่มมีสติในการเห็นกิเลสแล้ว เริ่มรู้ว่าในแต่ละวัน ที่เราทุกข์ไม่ใช่เพราะว่าจิตมันว่างหรอก แต่เพราะไม่รู้ว่าการว่างของจิตเนี่ยมันคือความสุขอยู่แล้ว กิเลสยิ่งหนาก็ยิ่งไม่เข้าถึงความว่างของจิต เพราะมันต้องแส่ส่ายหาที่ยึดที่เกาะอยู่เสมอ.
ให้สังเกตง่าย ๆ ว่า ทุกครั้งที่เราว่างมันก็จะต้องหาอะไรมาทำเสมอ ไม่ใช่ว่างอย่างที่จิตว่างจริง ๆ การสังเกตนี้จะต้องประกอบด้วยสติ และสมาธิเป็นส่วนใหญ่ เพราะจะได้มั่นคงต่ออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เราจะสามารถรับรู้ได้ว่าถ้ามีครั้งใด เราว่างจริง ๆ อย่างที่เรากล้าพูดว่าว่าง นั่นก็ยังไม่เรียกว่าว่างจริง ๆ เพราะความว่างคือการปราศจากสิ่งใดทั้งปวง นี่คือหนทางที่เราหนีมันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นหนีความเหงา หนีการอยู่คนเดียว หนีการเบื่อหน่าย แต่พอมีสติ มีสมาธิ และมีปัญญาแล้ว จะตระหนักรู้ได้ว่า จิตที่ว่างย่อมเป็นจิตเดียวกับผู้รู้แจ้งสัจธรรม ทุกวันนี้อย่าว่าแต่จิตว่างเลย ไม่มีคำว่าว่างแม้แต่ขณะเดียว ความทุกข์ที่วนเวียนไปอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้นนี่แหละ เรียกว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอยู่เสมอ.
จนกว่าจะพอใจ
เมื่อไหร่ที่เราจะรู้สึกว่า ‘พอ’ คงไม่มีใครสามารถตอบได้ ถึงแม้ตอบได้มันก็จะมีสิ่งอื่นให้เย้ายวนใจให้ติดข้องต้องการอีกเป็นธรรมดา เพราะความอยากมันไม่เคยเติมเต็มได้จากการสนองมัน แต่มันต้องเรียนรู้จากปัญญาในการละคลายว่า “ถ้าเรายังเติมความอยาก เราก็คงต้องตายไปก่อนที่ความอยากนั้นจะหายไป” บางครั้งธรรมชาติก็มาสอนเราว่า สรุปที่เราบอกว่าเรารักตัวเราเองนั้น ไม่ได้ใกล้กับความรักที่แท้จริงเลยสักนิด เราไม่รู้ เราพร่ำบ่น และเราก็ไม่สามารถตอบตัวเองได้จริง ๆ ว่า ตัวเองต้องการอะไรในที่สุดแล้ว บางครั้งเราต้องการความสุข.
บางครั้งเราต้องการคนเข้าใจ และไม่มีใครที่จะรู้ใจเราจริง ๆ สักคน ถึงแม้จะมีคนรู้ใจแล้วถ้าเขาไม่อยู่กับเราแล้วล่ะ แล้วถ้าเขาเปลี่ยนไปไม่รักเราแล้วล่ะ เราจะอยู่ได้ยังไง และจะมีปัญหามากมายกว่านี้อีกเยอะมากที่นับไม่ถ้วน เพราะยิ่งอยากก็ยิ่งทุกข์ เพราะเติมเท่าไรมันไม่เคยพอ จนกว่าจะพอใจ ใจนั้นก็บอบช้ำมามากแล้ว.
เราควรจะรักตัวเองให้มากกว่านี้ เมื่อไหร่ที่เรา ‘พอ’ ความทุกข์ก็จะบอกว่า ‘พอ’ เช่นเดียวกัน เหมือนความทุกข์เป็นเพียงกระจกสะท้อนตัวเราว่าเรารู้สึกยังไงกับมัน แต่ถ้าใจนั้นยังไม่รู้สึกว่าพอ ทำยังไงให้ตายมันก็ไม่เข้าใจหรอกว่าพอใจคืออะไร ใจที่ขาดแหว่งย่อมไม่สามารถเรียนรู้ความจริงได้ เพราะจิตจะต้องสะสมปัญญาอีกมหาศาล จนกว่าจะเรียนรู้ว่าทั้งดี และไม่ดีนั่นแหละคือตัวทำให้จิตไม่ว่างทั้งสิ้น.