เกียร์ชีวิต

เกียร์ชีวิต

การจะมีเกียร์ชีวิตได้อย่างแท้จริง ก็จะต้องประกอบด้วยครรลองเป็นสำคัญ หากไม่มีครรลองในชีวิต เกียร์ชีวิตก็ไม่สามารถถูกจุดชนวนขึ้นมาได้ แล้วถ้าเราต้องการสร้างเกียร์ชีวิตขึ้นมาล่ะ เราจะหาวิธีการอย่างไรให้ชีวิตถูกสร้างมาโดยไม่สูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป เราจะใช้รูปแบบของเกียร์เพื่อปรับเปลี่ยนหนทางได้ตลอดเวลา มิอาจแยกการใช้ชีวิตออกไปโดยปราศจากเกียร์ชีวิตไปได้อย่างเด็ดขาด.

เกียร์แรกก็ต้องเป็นเกียร์ที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเกียร์ง่าย ๆ ที่ทุกคนคงคุ้นชินก็คือการเอาตัวรอด การแสวงหาความสุขระยะสั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรมาก เพราะทุกคนมีกันอยู่แล้ว ซึ่งก็เหมือนสัญชาตญาณนั่นเองที่เราทุกคนจำเป็นจะต้องมีเอาไว้ติดตัว ไม่ว่าจะเป็นในยามคับขัน หรือว่ากำลังเจอภาวะกดดันอะไรบางอย่าง.

เกียร์ที่สองก็คือ การที่เราเริ่มใช้เหตุผล และตรรกกะเข้ามาเกี่ยวข้อง บางครั้งก็มีความผิดพลาดไปได้บ้าง เพราะเหมือนกับว่าเราจะไม่ได้ตระหนักรู้จริง ๆ ในเรื่องของชีวิต บางครั้งความผิดพลาดก็มักจะเจอกับหลุมอากาศที่ค่อนข้างใหญ่ กระทบมาทีนึงก็ทำให้เราจุกหนักได้เหมือนกัน ขั้นนี้เป็นขั้นหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะถ้าไปต่อไม่ได้ชีวิตก็ยากที่จะพัฒนาไปได้จริง ๆ.

เกียร์ที่สามก็คือ การที่เราเริ่มมีการหาข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้นั่งเทียนเอาเอง และคิดไปเองว่า “สิ่งที่เราคิดจะต้องเป็นแบบนี้อย่างแน่นอน” หรือว่า “สิ่งที่เรารู้จะต้องรู้ครบหมดแล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรอีก” ซึ่งในความเป็นจริง หากเราผ่านเกียร์ที่สองมาได้ ก็เพราะเราตระหนักรู้ชัดแล้วว่า เราเนี่ยไม่ได้รู้อะไรเลย แม้กระทั่งรู้จักตัวเราเองอย่างถ่องแท้ก็ไม่สามารถทำได้.

เกียร์ที่สี่ก็คือ เกียร์สุดท้ายที่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องพบเจอก็คือ การตื่นรู้ของจิตวิญญาณ ซึ่งในการตื่นรู้นี้ไม่ใช่สิ่งที่เราตื่นจากเตียงเวลายามเช้า แล้วนี่จะถือว่าเป็นการตื่นรู้ของจิตวิญญาณนะ แต่มันคือการที่จิตวิญญาณนั้นรู้ชัดเจน และแจ่มแจ้งแล้วว่า ชีวิตนี้เกิดมาเพื่ออะไรจริง ๆ เราจะใช้ชีวิตต่อไปได้จะต้องประกอบด้วยอะไรเป็นพื้นฐานจริง ๆ ถือว่าถัดมาจากการเรียนรู้ก็จึงตื่นรู้ขึ้นมา.

เกียร์ชีวิตนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนก็เพราะมันคือสมการของชีวิต โดยขั้นแรกก็คือสัญชาตญาณ ขั้นสองก็คือเหตุผล ขั้นสามก็คือการเรียนรู้ และขั้นสุดท้ายก็คือการตื่นรู้ เมื่อกระบวนการในชีวิตมีเกียร์ให้เลือกเดิน มันก็เปรียบเสมือนการที่เราจะเดินไปตามทางในสิ่งที่ควรจะเป็น หากชีวิตมีแต่สัญชาตญาณโดยส่วนเดียว ชีวิตก็จะทำตามแต่อารมณ์โดยไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง หากชีวิตใช้แต่เหตุผลโดยส่วนเดียว ชีวิตก็จะขาดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน เกียร์ที่สาม และสี่ จึงเป็นสิ่งที่ต้องพึงกระทำอย่างยิ่งยวด มิเช่นนั้นชีวิตก็จะขาดครรลองที่ดีไป.

การไม่รู้จักตัวเอง คือโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต

ศุภกิตติ์ กิติมหาคุณ