#76 ความรู้ทางการเงิน

ความรู้ทางการเงิน

เมื่อการศึกษาในระบบไม่ได้สอนให้เราทุกคนเรียนรู้เรื่องการเงิน แต่เราก็ยังจำเป็นจะต้องเรียนรู้เรื่องการเงินกันอยู่ดี ซึ่งมันก็ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไปไม่ได้ แน่นอนว่าหลายคนอยากเป็นคนร่ำรวย แต่ถ้าปราศจากความรู้ทางการเงิน ก็มิอาจจะล่วงรู้ไปได้เลยว่า ระบบทุนนิยมนี้กำลังหล่อหลอมให้คนในสังคมเรียนรู้สิ่งใด แล้วเรากำลังได้เรียนรู้อย่างสิ่งที่ระบบนั้นต้องการ หรือไม่ต้องการกันแน่ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมันอยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ที่ระบบแต่อย่างใด.

ระบบอยากให้ทุกคนเดินตามแผน

เมื่อการเงินไม่ได้สอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย มันจึงเป็นความท้าทายของคนทุกคน แต่ยังไงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่การสอน แต่มันอยู่ที่ระบบนี้ที่อาจจะจงใจตั้งแต่แรกแล้วว่า ถ้ามีคนรู้เรื่องการเงินเยอะเกินไป การควบคุมก็จะไม่สามารถเป็นไปได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ การที่ผู้คนนั้นขาดทักษะเรื่องการเงิน อย่างน้อยที่สุดเขาเหล่านั้นก็จะไม่ได้รู้เท่าทันคนที่รู้เรื่องการเงินมากกว่า เปรียบเสมือนมวยที่ไม่ถูกคู่ ทว่า ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ระบบแต่ตอนนี้เหมือนผู้คนจะเริ่มชินชากับการไม่เรียนรู้เรื่องการเงินกันไปเสียแล้ว เพียงเพราะระบบกลัวว่าคนจะรู้มากเกินไป แต่ตอนนี้ระบบอาจจะต้องทบทวนกันใหม่ว่า สิ่งที่กลัวในตอนนี้ อาจจะมีเรื่องที่น่ากลัวกว่ารอเราอยู่.

คนที่ร่ำรวยคือความผิดพลาดของระบบ นั่นแปลว่า คนที่มั่งคั่งเกินไปก็จะเป็นคนที่คุมเกมอีกทีหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วการที่เราจะร่ำรวยขึ้นได้นั้นจะยากขึ้นตามยุคสมัย โดยเฉพาะในจังหวะของเงินเฟ้อ และวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามาพร้อม ๆ กัน แม้แต่จังหวะของการเข้าลงทุนก็ย่อมกำหนดผลลัพธ์ในบั้นปลายได้เช่นกัน แต่เราก็ไม่เคยได้เรียนรู้ว่า การวางเงินไว้ยังที่ใดที่หนึ่ง โดยขาดจังหวะที่สมควรแล้วไซร้ ผลตอบแทนย่อมไม่ได้ตามสิ่งที่เราปรารถนาอยู่ดี นั่นจึงเป็นคำตอบที่ง่ายมากว่า จังหวะคือแม่บทของทุกสรรพสิ่ง แล้วโดยเฉพาะถ้าเป็นในเรื่องของระบบการเงินแล้ว ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า จังหวะสร้างผู้คนให้ร่ำรวย แต่ก็ได้สร้างให้ผู้คนนั้นยากจนกว่าเดิมก็ได้เช่นกัน.

การตลาดยั่วยวนให้เราซื้อไม่ใช่ให้เราหาเพิ่ม

ทุกการตลาดที่กำลังสั่นคลอนกันอยู่ทุกวันนี้ มีโอกาสสูงมากที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็เพียงเพราะการยั่วยวนให้ผู้คนซื้อนั้นจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก แล้วคนที่ได้เปรียบก็คงมิใช่มนุษย์เดินดินอีกต่อไป ยิ่งมีข้อมูลการตัดสินใจ การเลือกเฟ้น รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันไปยังวิถีทางใด ปริมาณมากแค่ไหนก็จะยิ่งช่วยให้การตลาดนั้นทำนายได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น เพราะการตลาดไม่มีเหตุผลอื่นนอกเสียจาก อยากให้ผู้คนซื้อสินค้า และบริการนั้น ๆ โดยปราศจากการยั้งคิด แค่รูปภาพสีสันสวยงาม ตั้งอยู่หน้าร้านอาหารหนึ่งก็สามารถโน้มน้าวให้เราอยากรับประทานอาหารในร้านนั้น มิหนำซ้ำการตลาดไม่สนใจว่าคน ๆ นั้นจะหาเงินมาจากที่ใดด้วย.

การหาเงินเพิ่มจึงเป็นความท้าทายของระบบเช่นเดียวกัน ถ้าเรามองว่าเงินคือกระดาษ แล้วเราก็กำหนดให้กระดาษนี้มีค่าตามมูลค่าที่เราให้ค่ามัน สิ่งนี้จึงเปรียบเสมือนตั๋วที่จะแลกซื้ออะไรก็ได้บนโลกใบนี้ กลับกันถ้าเรามองอีกมุมหนึ่งกระดาษที่มีจำนวนกำจัด มันจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อผู้คนในสังคม คำตอบนั้นก็คือส่งผลกระทบที่แปรผันตรงกันกับคุณค่าของตัวตนที่เรามี คนใดที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบได้มาก คนนั้นก็จะดึงดูดให้เงินมาอยู่ที่ตัวเขาได้มากเท่านั้น มันจึงเป็นทั้งโอกาสของคนที่เริ่มสร้าง และเริ่มเข้าใจว่าการประหยัดเป็นส่วนหนึ่งของการเงิน แต่การขายเป็นทั้งหมดของการเงิน วันหนึ่งเราทุกคนจำเป็นจะต้องเป็นนักขายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

ทำไมการลงทุนจึงเป็นความเสี่ยง

คำนิยามที่เห็นตามใบประกาศอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาก่อนตัดสินใจเสมอ ซึ่งเนื้อความของข้อความนี้จะสื่อว่า ต้องศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนด้วยตลอด ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าลงทุนโดยที่เราไม่มีความรู้อะไรเลย โจทย์ของการลงทุนจึงเปลี่ยนไปว่า จริง ๆ แล้วด้วยตัวการลงทุนเองไม่มีความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงนั้นแปรผันตรงกันกับ ความรู้ทางการเงิน ยิ่งมีความรู้มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็จะยิ่งลดลงมากเท่านั้น แล้วเพราะเหตุผลใดที่คำเตือนนี้สามารถเป็นกำแพงให้ผู้คนเข้ามายังตลาดทุนน้อยลง ก็เพียงเพราะคำเตือนในด้านลบส่งผลมากกว่าคำเตือนในด้านบวก เช่น การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนย่อมเสี่ยงมากกว่า แล้วใน ณ วันนี้อะไรคือความเสี่ยงที่แท้จริงกันแน่.

หากเรากำหนดนิยามให้แคบลงว่า อะไรคือความเสี่ยง แม้ว่าการปล่อยเงินสดทิ้งไว้ในธนาคาร แล้วธนาคารก็มองว่าเงินสดคือเครดิตที่ดีที่สุด แต่กลับกันตัวธนาคารเองก็ไม่ได้ถือเงินสดเยอะที่สุด แถมบางส่วนที่ธนาคารบอกให้เราถือเงินสด เขาก็เอาไปปล่อยสิ้นเชื่อในอัตราส่วนที่ค่อนข้างเสี่ยง นั่นจึงเป็นส่วนที่เราต้องตระหนักให้ดีว่า ความเสี่ยงที่แท้จริงอาจจะไม่ได้อยู่ที่สิ่งใด แต่อยู่ที่บริบทที่เรายืนอยู่ สมมุติช่วงเวลาหนึ่งความเสี่ยงคือเงินสด เราก็แค่เปลี่ยนเงินสดเป็นสินทรัพย์อื่น หรือว่าถ้าความเสี่ยงเป็นสินทรัพย์นี้ เราก็แค่ย้ายสิ่งนั้นไปวางเป็นเงินสดแทน นี่คือการลดความเสี่ยงที่ธนาคารใช้ แต่ทำไมผู้คนจึงไม่รู้ข้อเท็จจริงข้อนี้อย่างจริงจังว่า ทุกสินทรัพย์ย่อมเสี่ยงเท่ากันหมด ถ้าเราไม่ได้ศึกษามัน.

เครดิตที่ดีที่สุดไม่ใช่เงินสด

เงินสดจึงไม่ใช่การสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีที่สุด ถึงแม้ว่าเงินสดจะเป็นสิ่งที่ธนาคารชื่นชอบ แต่ระบบทุนนิยมไม่ได้ชอบเงินสดขนาดนั้น ความรู้ทางการเงินจึงเป็นตัวกำหนดว่า จะเอาเงินสดนี้ไปวาง ไปซื้อ หรือไปค้ำยังจุดใดได้บ้าง นี่คือหน้าที่ของเงินสดเท่านั้น มันเป็นเพียงมดงาน ไม่ใช่นางพญามดแต่อย่างใด ปัญหาของเครดิต คือเราต้องการสร้างความน่าเชื่อถือให้ได้มากที่สุด มันจึงต้องตามหาต่อไปว่า แล้วอะไรสร้างเงินสดให้กับเราจริง ๆ นั่นก็คือสินทรัพย์ที่ผลิตกระแสเงินสด เช่น หุ้น การทำธุรกิจแล้วถือหุ้นในบริษัท รวมไปถึงการปล่อยกู้ สินเชื่อต่าง ๆ ที่ให้ผู้คนนั้นหาเงินมาให้กับเรามากกว่าเงินที่เราเสียไป นี่จึงเป็นความจริงที่ว่าทำไมการลงทุนจึงไม่เสี่ยง.

ตลาดทุนจึงเปรียบเสมือนนางผญามดตัวจริง ที่เป็นตัวคุมเกมตลาดทั้งหมด จงสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเราเอง ถือครองสินทรัพย์ที่สร้างกระแสเงินสดระหว่างที่เรานอนหลับ พักผ่อน หรือว่าเวลาที่ง่วนอยู่กับบางสิ่งที่เราไม่สามารถสร้างเงินสดให้กับตัวเราเองได้ ณ วันนี้ถ้าเราอยากดูเครดิตผู้คน จงดูที่ความรู้ทางการเงิน ทักษะของการสร้างสินทรัพย์ระหว่างทาง รวมไปถึงบุคคลนั้นมีศักยภาพในการสร้างกระแสเงินสดได้แบบระยะยาวหรือระยะสั้น เคล็ดลับที่ไม่ลับก็คือ วิถีทางของการสร้างกระแสเงินสด ก็ย่อมเป็นตัวกำหนดอาณาจักรทางการเงินของเรา รวมไปถึงการส่งต่อเงินทองไปยังครอบครัวและญาติพี่น้องของเราด้วย เสาะแสวงหาผลตอบแทนอยู่ตลอดเวลา เพราะเงินสดไม่ใช่เครดิตที่ดีเสมอไป.