ในเมื่อโลกสร้างผู้รับมาแล้ว ก็จะขาดผู้ให้ไปไม่ได้ เพราะผู้ให้คือผู้ที่มาเติมเต็มให้โลกนั้นอุดมสมบูรณ์ เปรียบเหมือนคนที่มีความสุขได้โดยการเติมเต็มผ่านคนอื่น นั่นแหละคือคำนิยามของผู้ให้ที่แท้จริง ถ้าเรายังไม่รู้จักที่จะให้ มันก็ยากที่จะทำให้ตัวเราเอง หรือคนที่อยู่รอบข้างมีความสุขได้ แล้วคำนิยามคำนี้มันเป็นอุดมคติไปหรือเปล่า มันสามารถทำได้จริงใช่ไหม จากคำถามมาสู่คำตอบที่สำคัญยิ่ง.
ในโลกนี้ประกอบด้วยผู้รับประมาณ 90% และผู้ให้ประมาณ 10% (วัดจากความรู้สึกส่วนตัวล้วน ๆ) แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่สามารถจะมากำหนดกะเกณฑ์อะไรได้หรอก ก็เพราะว่าคนที่ให้เขาย่อมเห็นประโยชน์ในการให้ คนที่รับเขาก็จะไม่เห็นประโยชน์ในการให้ แล้วนี่คือคำตอบของคนให้ และคนรับ.
ความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้เติมเต็มสิ่งที่เขาต้องการ ผ่านการได้เป็น ได้มี หรือได้ครอบครอง ยิ่งมีสิ่งนั้นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น แต่อยู่มาวันหนึ่งคนที่ได้รับจนไม่รู้จะอยากได้อะไรแล้ว (มันมีอยู่จริง ๆ) เขาก็เริ่มที่จะรู้สึกหน่ายในการรับ เพราะรู้สึกว่ารับมามากแล้วมันก็เบื่อเหมือนกัน จิตใจมันจะเริ่มอิ่มจากการเป็นผู้รับ.
พอค้นหาไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกว่า การให้นั่นแหละคือทางออกของการเบื่อครั้งนี้ พอเริ่มให้ครั้งแรกจะรู้สึกแปลก ๆ เหมือนมีความอิ่มเอิบใจลึก ๆ รวมทั้งก็จะรู้สึกว่าเวลาเราตอนเป็นผู้รับมันไม่รู้สึกดีขนาดนี้ ก็ในขณะที่เราให้คนที่เขาไม่มี หรือขาด สีหน้าแววตาเขาจะมองด้วยความรู้สึกว่าเราเป็นเทวดามาโปรดเขาอย่างไรอย่างนั้น มันกลับกลายเป็นว่ามีความรู้สึกว่ามีคุณค่าขึ้นมาอย่างจริงจัง.
จากจุดนี้มันตอบโจทย์ในชีวิตว่า “ผู้รับไม่สามารถเติมเต็มด้วยการมีได้” แต่ “ผู้ให้สามารถเติมเต็มด้วยการให้ได้” และนี่คือสาเหตุหลัก ที่เราทุกคนที่กลายเป็นผู้ให้จะสามารถเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นได้ มันคือความรู้สึกต้องการพื้นฐาน ที่เราต้องบรรลุจุดมุ่งหมายของการมีชีวิตอยู่นั่นเอง ในส่วนลึกที่ต้องการความสุข ก็คือจุดมุ่งหมายที่ต้องการไปถึง อาจจะมีการกระทำที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่ก็ล้วนดำเนินชีวิตโดยสิ่งที่เรียกว่า การตามหาความสุขเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้าศึกษา และเรียนรู้มามากพอ ทุกแหล่งความรู้ ทุกแหล่งข้อมูลจะพูดเหมือนกันเสมอว่า “ยิ่งให้ไปเราก็ยิ่งได้มา” ไม่มีทางที่คนให้จะไม่ได้ ตราบใดที่โลกยังมีคนที่ให้ นั่นก็ถือว่าโลกเรายังสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้.
ผู้ให้ย่อมมีความอิ่มใจเป็นพื้นฐาน แต่ผู้รับย่อมมีความพร่องเป็นพื้นฐาน
ศุภกิตติ์ กิติมหาคุณ