ความหมายของคำว่ารัก

ความหมายของคำว่ารัก

ถ้าพูดถึงความรัก เราก็จะพูดถึงในแง่มุมที่สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ทว่า ในแง่มุมของความรักนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย และด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือธรรมะเป็นทุนเดิม เลยเห็นประโยชน์ที่จะนำความหมายของความรักในแง่มุมธรรมะของ พระเมธีวชิโรดม – ว.วชิรเมธี มาอ้างอิง ณ บทความนี้ด้วย ซึ่งการอ่านหนังสือธรรมะย่อมเกิดประโยชน์แก่ผู้อ่าน โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องการหาคำตอบของชีวิต.

ความลึกซึ้งของความหมายนั้น ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่ความจริงของความรักคืออะไร ใครเล่าจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ได้ ธรรมะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรักด้วยหรือ คงจะมีคนสงสัยแบบนี้มากมายแน่นอน ถึงแม้จะมีคนมากมายคำนิยามของความรักก็เปลี่ยนไปตามประสบการณ์ วุฒิภาวะ และทัศนคติ ต่อการเจอความรักแต่ละครั้งด้วย แต่กระนั้นความหมายที่แท้จริงของความรักนั้นหาได้เปลี่ยนไปไม่.

ความรักจึงแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ 1. รักตัวกลัวตาย 2. รักใคร่ปรารถนา 3. รักเมตตาอารี และ 4. รักมีแต่ให้

จากความเข้าใจตอนอ่าน 4 ข้อนี้แรก ๆ ก็คิดเอาเองว่า “ใครมันจะไปรักมีแต่ให้ แล้วเราจะได้อะไรกลับมาล่ะ” ตอนนี้กลับตอบคำถามที่เคยตั้งเอาไว้ได้ว่า “เราไม่สามารถรักโดยที่เราไม่มีความรักในตัวเองได้ แสดงว่าเราจะต้องเป็นแบบรักมีแต่ให้เท่านั้น เราจึงจะมีความสุขอย่างแท้จริง”.

การใช้กาลเวลาประสบการณ์เพื่อทดสอบว่ารักแท้มันมีจริง ๆ ไหม ต้องตอบว่า ‘มีจริง’ แล้วคำถามต่อไปคือ ‘มันอยู่ที่ไหน’ คำตอบก็คือ “อยู่ในตัวเรานี่แหละ ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย” คนที่คิดว่าความรักมีรักแท้ รักเทียม รักไม่จริง รักหลอก หรือจะรัก… อะไรก็ตามแต่ สุดท้าย รักก็คือรัก ไม่จำเป็นต้องไปเติมคำให้มันยิ่งสับสนกันมากขึ้น.

เมื่อเรารู้แล้วว่ารักคือรัก “แล้วทำไมไหนเรารักตัวเองขนาดนี้แล้ว ไม่เห็นจะมีอะไรดี ๆ เข้ามาเลย ไม่เห็นเราจะมีความสุขขึ้นมาเลย” คำตอบก็คือ ‘เรารักตัวเองผิดวิธี’ ในเมื่อชีวิตคือการหาคำตอบของทุกสิ่ง ไม่ใช่นั่งนึกตรึกเอง แล้วคิดเอาเองว่า “ใครๆก็รู้จักความรักปะวะ เด็กอนุบาลยังรู้เลยว่ารักคืออะไร” คำตอบก็คือ ‘ใช่’ เด็กไม่รู้ประสีประสาก็ยังรู้จักความรัก แต่รักนั้นไม่ใช่รักเพื่อความสุข มันคือรักเพื่อตัวเอง หลังจากที่อ่านบทความนี้จบ สิ่งที่เราจะต้องตั้งคำถามต่อไปในชีวิตคือ “เรารู้จักความรักจริง ๆ หรือเปล่า หรือว่าแท้ที่จริงเรากำลังหลงกันแน่”.

เมื่อต้องการความรัก แสดงว่ากำลังขาดการรักตัวเอง

ศุภกิตติ์ กิติมหาคุณ