ความเป็นปกตินั้นเป็นสิ่งที่เรามักจะพูดกันอยู่เป็นประจำ ว่าปกติแบบนั้น ปกติแบบนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเป็นปกติจริง ๆ มีเพียงแค่หนึ่งเดียว นั่นก็คือศีลธรรม ตัวศีลจึงถอดความว่าเป็นปกติ อยู่อย่างปกติ และก็ดำเนินชีวิตไปสู่ความเป็นปกติ ส่วนธรรมก็จึงหมายความว่า ธรรมชาติ ความเป็นจริงอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น ทั้งสองคำจึงหมายถึงความเป็นปกติอย่างนั้นไม่แปรเปลี่ยนไปตามความคิดเห็นใด ๆ เลย.
แล้วความเป็นปกตินี้จึงขยายความต่อไปว่า ปกติที่ตัวเองนั้นจะชื่นชมตัวเองเมื่อได้ปฏิบัติหรือได้นำไปปรับใช้กับวิถีชีวิต ซึ่งผู้คนจะอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข โดยความเป็นปกติเหมือน ๆ กัน ไม่ได้ปกติที่ขึ้นอยู่กับตัวเองหรือว่าความคิดเห็นของปัจเจกชน แม้ว่าชีวิตจะต้องมีครรลองให้ยึดให้เกาะ กระนั้น เราก็จำเป็นจะต้องหาที่ยึดที่เกาะให้เป็นสิ่งที่ดีงามต่ออนาคตสืบไปด้วย มิใช่ว่าจะยึดเกาะสิ่งใดก็ได้.
ชีวิตก็เลยเป็นคำถามที่ต้องการหาคำตอบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วเราไม่สามารถจะบอกได้เลยว่า ศีลธรรมกับความเป็นปกติของเรานี้มันแตกต่างกันอย่างไร ก็ในเมื่อถ้าเราไม่ยอมตั้งคำถามว่าชีวิตประจำวันที่เรากระทำทุกวัน มันจะบ่ายหน้าไปยังทิศทางใด เราก็จะไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นทั้งความคิด คำพูด และการกระทำที่เป็นปกติก็จึงเป็นเรื่องอุดมคติกันไป.
การเปลี่ยนแปลงของความคิดจิตใจในเรื่องความเป็นปกติ ก็ต้องเนื่องด้วยการเปิดใจให้กว้างว่า สิ่งที่เราปกติแบบนี้คนอื่นอาจจะไม่ได้เป็นปกติแบบเดียวกับเรา หรือความเป็นปกติของเรามันมีอนาคตในรูปแบบใด เรารู้ชัดรึเปล่าว่าการกระทำที่บอกว่าเป็นปกติของเรา มันคือปกติที่ดีและปกติที่ไม่ดีอย่างไร ปัญหาก็จึงเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันต่อไปว่า คำว่าปกติในแต่ละปัจเจกชนคือสิ่งใดกันแน่.
ลองขบคิดกันดูว่า ถ้าเราเป็นปกติในรูปแบบหนึ่ง แล้วอีกคนก็เป็นปกติในอีกรูปแบบหนึ่ง ปัญหาของทั้งสองทางมันเหมือนกันหรือไม่ ศีลธรรมไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งที่ต้องนำมาปรับใช้ แต่เป็นโจทย์ให้กับทุกคนได้ลองสังเกตกันว่า เราสามารถที่จะมีความสุขโดยการขาดการทำเหตุที่ดีได้หรือไม่ ถ้าเราสามารถทำแบบนั้นได้แล้วเราจะถือศีลกันไปเพื่อสิ่งใดกันแน่ ทุกคนก็จะสามารถทำตามอำเภอใจทุกอย่าง เป็นปกติได้ตลอดเวลาแล้วก็มีชีวิตที่ปกติเหมือนกันโดยขาดการเข้าใจหลักเหตุผลไป.
ศีลธรรม คือความเป็นปกติ อยู่อย่างปกติ และทุกคนก็จะมองเห็นได้ว่าเป็นปกติที่ดี
ศุภกิตติ์ กิติมหาคุณ